ปิดจ็อบระบบทางคู่-รถไฟไทย-จีน 7 หมื่นล.

เร่งติดตั้งระบบ - หลังการรถไฟฯก่อสร้างรถไฟทางคู่ไปหลายเส้นทาง ล่าสุด เตรียมเปิดประมูลงานระบบโทรคมนาคมและอาณัติสัญญาณ 3 เส้นทาง มูลค่ากว่า 1.1หมื่นล้าน ในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือ และอีสาน จะเปิดขายซองทีโออาร์กลาง มี.ค.นี้
ผู้รับเหมา-ซัพพลายเออร์คึก การรถไฟฯไล่ขายซองประมูลงานใหญ่กว่า 7 หมื่นล้าน ดึงต่างชาติชิงเค้กประมูลติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณทางคู่ 3 เส้นทาง วงเงิน 1.1 หมื่นล้าน เร่งปิดจ็อบงานก่อสร้างรถไฟไทย-จีน 5 สัญญา 5.8 หมื่นล้านก่อนสงกรานต์

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างเปิดประมูลงานทั้งติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณรถไฟทางคู่และงานโยธารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา คิดเป็นมูลค่างานกว่า 7 หมื่นล้านบาท

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นทีโออาร์ประมูลจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมในโครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง วงเงินรวม 11,650 ล้านบาท จะเปิดประกวดราคาแบบนานาชาติ คาดว่ากลางเดือน มี.ค.-พ.ค.จะขายซองและให้ยื่นประมูลหลังเดือน พ.ค. และได้ผู้รับเหมาในเดือน ก.ค.นี้ แล้วเสร็จในปี 2564-2565 จะเปิดให้ยื่นซองพร้อมกัน 3 เส้นทาง 1.สายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร 169 กม. 59 สถานี วงเงิน 6,250 ล้านบาท 2.สายเหนือช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กม. 20 สถานี วงเงิน 2,900 ล้านบาท และ 3.ตะวันออกเฉียงเหนือช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ 132 กม. 20 สถานี วงเงิน 2,500 ล้านบาท

“การประมูลครั้งนี้จะเปิดให้เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีสามารถมายื่นประมูลได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางเหมือนที่ผ่านมา จะทำให้เกิดการแข่งขันสูง คาดว่าจะมีบริษัทจากต่างชาติสนใจหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป ปัจจุบันรถไฟใช้ระบบอาณัติสัญญาณจากเกาหลีและบอมบาร์ดิเอร์บางส่วน”

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 26 ก.พ.-10 เม.ย.นี้ได้เปิดขายซองประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน จำนวน 2 สัญญา ได้แก่ ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 13,293 ล้านบาท และช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. เงินลงทุน 10,917 ล้านบาท จะเปิดให้ยื่นซองประมูลภายในวันที่ 11 เม.ย.นี้ เป็นการยื่นซองประมูลรูปแบบ e-Bidding จะไม่ทราบว่ามีผู้รับเหมาซื้อซองกี่ราย นอกจากกรมบัญชีกลาง

ส่วนอีก 3 สัญญาที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้อง คาดว่าจะเปิดขายทีโออาร์ภายในเดือน มี.ค.นี้ ได้แก่ ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บ้านม้า ระยะทาง 30.21 กม. เงินลงทุน 11,386 ล้านบาท, ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. เงินลงทุน 11,659 ล้านบาท และช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.40 กม. เงินลงทุน 11,170 ล้านบาท

อีก 7 สัญญาที่เหลือ ได้แก่ 1.อุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง 2.ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง 3.ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา 4.บางซื่อ-ดอนเมือง 5.งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง เชียงรากน้อย 6.ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว และช่วงสระบุรี-แก่งคอย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่ผลประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน วันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค. ทั้งสองฝ่ายรับทราบความก้าวหน้าโครงการช่วงสีคิ้ว-กุดจิก 11 กม. จะเริ่มก่อสร้างหลังเซ็นสัญญาวันที่ 6 มี.ค. ขณะที่ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา 119.4 กม. และช่วงบางซื่อ-แก่งคอย 119 กม. แบ่งสัญญาออกเป็น 12 สัญญา จะเซ็น 5 สัญญาในเดือน มิ.ย. และอีก 7 สัญญาจะเซ็นในเดือน ก.ค.นี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการหารือจัดหาวัสดุก่อสร้างของสัญญา 2.3 งาน ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล โดยเน้นผลิตภายในประเทศไทยให้มากที่สุด

โดยมีความคืบหน้าในการจัดหาชิ้นส่วนบางรายการแล้ว เช่น หมอนรองราง ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เร่งรัดการเจรจาให้เกิดการบรรลุข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับสัญญา 2.3 มูลค่างานกว่า 3.8 หมื่นล้าน เช่น การกู้เงิน ให้มีการลงนามภายในเดือน เม.ย.นี้